Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ป้องกันภัยกรูมมิ่งออนไลน์ให้ลูกวัยทีน

Posted By Plook TCAS | 04 ส.ค. 66
749 Views

  Favorite

          ลูกวัยทีนเรียนอยู่ในชั้นมัธยมต้น เติบโตมากับโทรศัพท์มือถือและอยู่ในโลกออนไลน์อย่างเต็มตัว มีเพื่อนมากมายทั้งที่มีตัวตนจริงและเพื่อนอวตาร สื่อสารกันด้วยแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของโซเชียลมีเดีย ส่งข้อความโต้ตอบกันไปมาได้ในทันที พูดคุยกับใครก็ได้ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก ทั้งคนคุ้นเคยและคนแปลกหน้า ได้ความรู้และได้ประโยชน์มากมายหากใช้ให้ถูกทาง แต่บางครั้งอาจเสี่ยงต่อการถูกกรูมมิ่งออนไลน์

          กรูมมิ่งออนไลน์เป็นการเข้าหาเด็กเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศ โดยใช้วิธีตีเนียนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์ให้เด็กไว้วางใจ เกิดความสนิทสนม คุ้นเคย และอาจถึงขั้นชอบพอ โดยผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งสามารถเข้าหาเด็กได้โดยตรง และพ่อแม่ผู้ปกครองตรวจจับสัญญาณตีเนียนหลายรูปแบบได้ไม่ง่ายนักหากรู้ไม่เท่าทันหรือไม่ชัดเจน

          การตีเนียนอาจใช้เวลานานหรือไม่นานขึ้นอยู่กับวิธีการของผู้กรูมมิ่ง และความอ่อนต่อโลกรู้ไม่เท่าทันของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ กรูมมิ่งออนไลน์สามารถเกิดขึ้นได้โดยผู้ใหญ่กระทำต่อเด็ก เด็กโตต่อเด็กที่อายุน้อยกว่า เพื่อนต่อเพื่อน หรือเด็กถูกกระทำจากบุคคลใกล้ชิด จากคนคุ้นเคย หรือจากคนแปลกหน้าก็ได้

 

อันตรายแฝงตัวอยู่ได้ทุกที่ แล้วเราจะรับมือและช่วยปกป้องลูกของเราให้พ้นจากอันตรายของกรูมมิ่งออนไลน์ได้อย่างไร มาดูวิธีการกันค่ะ

1. พูดคุยกับลูกเรื่องอันตรายของกรูมมิ่งออนไลน์

การพูดคุยกับลูกทำให้ลูกอบอุ่น มีความสุข รู้สึกถึงความชิดใกล้ เหมือนมีเพื่อนแสนดีใกล้ตัว ไว้วางใจได้ คอยให้ความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่ได้แต่ฟังเพื่อน ๆ ซึ่งบอกเรื่องราวที่อาจผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง เราต้องตั้งใจ “ฟัง” ลูกพูดเพื่อให้เข้าใจความคิดของลูกและสิ่งที่ลูกได้ยินได้ฟังมา หากยังไม่ถูกต้อง เราต้องค่อย ๆ กล่อมเกลาแก้ไข อีกทั้งต้องหมั่นสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของลูก ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และอาจเป็นข้อบ่งชี้และสัญญาณผิดปรกติจากการกรูมมิ่งออนไลน์ที่ลูกไม่เล่าหรือยังไม่กล้าเล่า เราต้องใจเย็น สงบสติอารมณ์พูดคุยกับลูกให้รู้ความเป็นไปโดยละเอียด เพื่อให้ลูกกล้าพูดกล้าแสดงออก

 

2. แนะนำลูกเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียอย่างฉลาดและปลอดภัย

ข้อมูลที่ดีและถูกต้องในการใช้วิธีการออนไลน์อย่างปลอดภัย เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดกรูมมิ่งออนไลน์กับลูก เช่น ให้ลูกรู้จักใช้การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวบนเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย เอาไว้พูดคุยระหว่างลูกกับเราหากลูกเกิดความกังวลใจ หรือต้องการคำปรึกษาไม่ว่าในเรื่องใด ๆ ลูกจะได้ไม่ต้องพึ่งพาเพื่อนหรือบุคคลอื่นโดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ เป็นการป้องกันไม่ให้คนที่หวังฉกฉวยโอกาสเพื่อเอาประโยชน์ เข้ามากรูมมิ่งออนไลน์ได้ หรือให้ลูกรู้จักการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นส่วนตัว ไม่ให้รายละเอียดที่สามารถระบุตัวตนได้ในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น ชื่อ อายุ เพศ หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ ชื่อโรงเรียน และรูปถ่าย และเราเองก็ต้องก้าวตามให้ทันโลกและทันลูก ด้วยการรู้จักใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กใหม่ที่มีรูปแบบการสื่อสารที่แตกต่างกัน ที่ลูกกำลังใช้อยู่หรือต้องการใช้ และเราตั้งค่าบัญชีของเราเอง เพื่อให้ได้สัมผัสกับสิ่งที่ลูกของเราอาจเห็น รวมทั้งสอนลูกให้รู้จักระมัดระวังเกี่ยวกับรอยเท้าทางดิจิทัลซึ่งทำให้ผู้หวังกรูมมิ่งออนไลน์สะกดรอยตามทางอินเทอร์เน็ตได้

 

3. สอนลูกเรื่องการคบเพื่อนทั้งในโลกที่เป็นจริงและโลกเสมือนจริง

สอนลูกให้รู้ว่าการมีเพื่อนเป็นเรื่องดี แต่ต้องรู้จักเลือกการคบเพื่อน เพราะเพื่อนที่พบทางออนไลน์อาจให้ความรู้สึกเสมือนเป็นเพื่อน แต่จริง ๆ แล้วอาจไม่ใช่ตามนั้น การมีเพื่อนออนไลน์หลายพันคนนั้นไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป และเราควรหาทางให้ได้รู้จักกับเพื่อนอวตารของลูกด้วย สอนลูกไม่ให้นัดพบใครที่รู้จักทางออนไลน์โดยไม่มีเราอยู่ด้วย และลูกรู้หรือไม่ว่าเดี๋ยวนี้การปลอมตัวเป็นคนอื่นในโลกไซเบอร์ทำได้ง่ายมาก เพื่อหลอกล่อให้ลูกตกเป็นเหยื่อ เข้าใจผิดและหลงไว้วางใจไปติดกับดักถูกกรูมมิ่งออนไลน์ เพราะคิดว่าเป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือหรือเพื่อนที่รู้ใจ

 

4. ฝึกความเป็นคนช่างสังเกตและเรียนรู้สัญญาณของกรูมมิ่งออนไลน์

ทำไมลูกเรามีคนส่งของขวัญมาให้บ่อย ๆ เนื่องในโอกาสใด และลูกบอกรายละเอียดของผู้ส่งและแหล่งที่มาได้ชัดเจนหรือไม่ การใช้จ่ายเงินของลูกเป็นปรกติประการใด ลูกติดโซเชียลและใช้เวลาเล่นมากเกินไปจนเสียการเรียนและไม่สนใจเรื่องอื่น ๆ อารมณ์ปรวนแปรเมื่อถูกขัดใจไม่ให้อยู่กับโซเชียลตามที่ลูกต้องการ ลูกเก็บตัวไม่สุงสิงกับสมาชิกคนอื่นในครอบครัวเหมือนเดิม ชอบสลับหน้าจอเวลาอยู่หน้าคอมพ์หากเราเข้าใกล้ หรือเล่นโซเชียลผิดเวลาตามกติกาของครอบครัว ลูกขอออกไปเที่ยวหรือพบกับเพื่อนที่เราไม่รู้จักหรือไม่ ลูกเริ่มดื้อและพูดปดมากขึ้นหรือเปล่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณอันตรายของกรูมมิ่งออนไลน์

 

เราต้องจัดเตรียมลูกของเราให้มีทางเลือกที่ฉลาดขึ้นในโลกออนไลน์ มีการเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโลกที่เป็นจริงและโลกเสมือนจริง รวมทั้งทักษะในการสื่อสาร ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงจากการถูกกรูมมิ่งออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิผล รับมือและอยู่รอดปลอดภัยได้ในโลกไซเบอร์

 

ณัณท์

 

ข้อมูลอ้างอิง Online grooming: what it is and how to protect your child https://www.internetmatters.org/issues/online-grooming/protect-your-child/ 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow